วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

๗.พระสมันตะมหาปัฏฐาน (ตอน ๔)


สัมปะยุตตะ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  เพราะอาศัยกุศลธรรม  กุศลธรรมย่อมเกิดขึ้นด้วย
เครื่องสนับสนุนที่เป็นเหตุ  เกิดพร้อมกันแล้วดับพร้อมกัน  ประกอบด้วย
ขันธ์ ๔  ขันธ์ไม่มีรูปปรากฏภายนอก

     ถ้าเวทนาแลสัญญาเกิดขึ้น  สังขารแลวิญญาณ  ก็เกิดขึ้นด้วย

     สังขารแลวิญญาณเกิดขึ้น  เวทนาแลสัญญาก็เกิดขึ้นด้วย

          -  เวทนา  คือ  การเสวยอารมณ์ความรู้สึกเป็นสุข  เป็นทุกข์หรือ
         ไม่ทุกข์ไม่สุข

          -  สัญญา  คือ  ความได้หมายรู้  จำรูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส

          -  สังขาร  คือ  ความคิด  ความมีเจตนาดีบ้าง  
          ชั่วบ้าง  (เจตสิก ๕๒ ดวง)

          -  วิญญาณ  คือ  ความรับรู้อารมณ์ทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ 
          (จิต ๘๙  หรือ ๑๒๑  ดวง)

          (รูป  คือ  ร่างกายอันสงเคราะห์ด้วยธาตุ ๔ คือ  ดิน  น้ำ  ไฟ  ลม  
         ประชุมเป็นกายพร้อมทั้งรูปที่อาศัยธาตุทั้ง ๔  ปรากฏ  เช่น  
         ความเป็นหญิง  ความเป็นชาย)

วิปปะยุตตะ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  มีรูป  ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่ไม่มีรูป  ธรรมที่ไม่มีรูป  
ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธรรมมีรูป

อัตถิ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  เพราะอาศัยกายอันประกอบด้วย ดิน  น้ำ  ไฟ  ลม  
มีเวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันตั้งอยู่ได้ ๑ ปีบ้าง 
๑๐ ปีบ้าง  ๕๐ ปีบ้าง  ๑๐๐ ปีบ้าง  ก็เสื่อมสลายไป (ตาย)  อันจัดเป็นบุคคล
เจ้ามารยา  ให้มหาชนเหลวไหล  ย่อมสำแดงรูปไม่จริงให้เป็นของจริง  
ล่อใจเป็นสตรีบุรุษ  ติดพันอยู่ในสมมุติ  แน่นหนา  หลงรัก  หลงชัง  ต้องบริหาร
ด้วยผ้านุ่งห่ม  อาหาร  ที่อยู่อาศัย  ยารักษาโรค  ด้วยกรัชกายต้องบำบัดเวทนา
ทั้ง ๔  ด้วยเปลี่ยนอิริยาบทยืน  เดิน  นั่งนอน  พักผ่อนแก้เมื่อยขบ  ไม่รู้จบรู้สิ้นนี้

นัตถิ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  จิตและเจตสิกดับไปในขณะกระชั้นชิด  ย่อมเป็นปัจจัย
แห่งธรรมที่จิตและเจตสิกเกิดขึ้นเฉพาะหน้า  อันว่าเป็นจิตและเจตสิก  คือ

           -  จิต  คือ  ธรรมชาติที่เป็นรูปรับและส่งผลของเจตสิก  ให้เกิดกรรม
ทั้งกลางคืนและกลางวัน  ภพนี้และภพหน้ามีจำนวน ๘๙ ดวง  (๑๒๑  ดวง)

           -  เจตสิก  คือ  ธรรมชาติที่เป็นรูปส่งและรับประกอบกับจิต  ส่วนดี
เรียกว่า  กุศล  ส่วนชั่วเรียกว่า  อกุศล  เป็นกลาง ๆ  ไม่ดีไม่ชั่วเรียกว่า  
อัพพยากฤต  มี ๕๒  ดวง

วิคะตะ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  จิตแลเจตสิกย่อมพ้นไปหมดไป  ในขณะกระชั้นชิด  
ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าโดยฐานะ

อะวิคะตะ  ปุจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  เป็นเครื่องสนับสนุนที่ไม่ปราศจาก  ไม่พ้นไป  หมด
ไปของธรรมชาติที่รู้อารมณ์  (จิตเจตสิก)  ตามสภาพความนึกคิด  เข้าประกอบ
กับอาการเกิด  ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  เมตตา  สติ  ปัญญา ดังนี้.



                                         จบพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์

..........................................................

คัดลอกจาก....หนังสือธรรมานุสรณ์
ทำวัตร  สวดมนต์  ธรรมภาวนา
วัดถ้ำแฝด  ต.เขาน้อย  อ.ท่าม่วง  จ.กาญจนบุรี





















วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระสมันตะมหาปัฏฐาน (ตอน ๓)


วิปากะ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  บุคคลได้กระทำแล้วด้วยกุศลจิต  อกุศลจิต  
ย่อมมีผลเป็นวิบากกรรมอาศัย  ทำดีมีวิบากเป็นกุศล  ทำชั่วมีวิบาก
เป็นอกุศล  เกิดวิปฏิสารเดือดร้อนใจทั้งภพนี้แลภพหน้า

อาหาระ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  มีปัจจัยอันนำมาซึ่งผล  เป็นเครื่องหล่อ
เลี้ยงชีวิต  ๔  ปรกการ  คือ

          -  กวฬิงการาหาร  อาหาร  คือ  คำข้าวที่กลืนกินเข้าไปหล่อ
             เลี้ยงร่างกาย  อาหารที่เป็นวัตถุ

          -  ผัสสาหาร  อาหาร  คือ  ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา  
             มีอายตนะภายใน  อายตนะภายนอก  และวิญญาณกระทบกัน  
             ย่อมเกิดเป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง  เป็นอุเบกขาบ้าง

          -  มโนสัญเจตนาหาร  อาหาร  คือ  ความจงใจกระทำให้เกิดกรรม  
             ให้พูด ให้คิดและให้กระทำ

          -  วิญญาณาหาร  อาหาร  คือ  วิญญาณ  เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป  
             ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  แลรูป  รส  กลิ่น  เสียง  สัมผัส  
             ธรรมารมณ์  ดังนี้

อินทรียะ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  ทรงไว้ซึ่งความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน

         -  ตา  เป็นใหญ่ในการเห็น รูป

         -  หู  เป็นใหญ่ในการได้ยิน

         -  จมูก  เป็นใหญ่ในการได้กลิ่น
        
         -  ลิ้น  เป็นใหญ่ในการลิ้มรส

         -  กาย  เป็นใหญ่ในการสัมผัส

         -  ใจ  เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ยินดีไม่ยินดี

         -  สัทธา  เป็นใหญ่ในการเชื่อในพระรัตนตรัย

         -  วิริยะ  เป็นใหญ่ในความเพียร

         -  สติ  เป็นใหญ่ในการตั้งอยู่่ในความระลึกรู้

         -  ปัญญา  เป็นใหญ่ในความรู้สภาวะตามความเป็นจริง
            ของธรรมชาตินั้น

ฌานะ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  อันบุคคลกระทำแล้วด้วยการเพ่งอารมณ์จิตเป็นหนึ่ง  
มีอัปปนาสมาธิเป็นบาทแล้ว  เมื่อนั้นย่อมมีองค์ฌานบังเกิดขึ้น  คือ

         -  ปฐมฌาน  มีวิตก  วิจาร  ปิติ  สุข  เอกัคคตาา

         -  ทุติยฌาน  มีปิติ  สุข  เอกัคคตา

         -  ตติยฌาน  มีสุข  เอกัคคตา

         -  จตุตถฌาน  มีเอกัคคตา  แลอุเบกขา

         -  อากาสานัญจายตนฌาน  กำหนดอากาศหาที่สุดมิได้

         -  วิญญานัญจายตนฌาน  ฌานกำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้

         -  อากิญจัญยายตนฌาน  ฌานกำหนดภาวะไม่มีอะไร

         -  เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน  ฌานกำหนดภาวะมีสัญญา
            ก็ไม่ใช่  ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

มัคคะ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  อันบุคคลกระทำแล้วปฏิบัติแล้ว  ย่อมถึงความดับทุกข์  
ย่อมถึงความเป็นอริยบุคคล  ละสังโยชน์ด้วยประการต่าง ๆ  ด้วยพระอริย
อัฏฐังคิกมรรค ๘  ประการ  คือ

        -  สัมมาทิฏฐิ  ปัญญาเห็นชอบในอริยสัจจ์สี่  ปัญญาเห็นชอบตามความ
           เป็นจริงว่า  ขันธ์ ๕  ไม่เที่ยง  ทำชั่วทำดีย่อมมีผล ดังนี้

        -  สัมมาสังกัปปะ  ความดำริที่จะออกจากกาม  จากโลภะ  โทสะ  โมหะ 
           ดำริในอันไม่พยาบาท  ดำริในอันไม่เบียดเบียน ดังนี้

        -  สัมมาวาจา  การเจรจาชอบ  เว้นประพฤติทางวาจา  ด้วยการพูดเท็จ  
           พูดส่อเสียด  พูดคำหยาบ  แลพูดเพ้อเจ้อ  ดังนี้

        -  สัมมากัมมันตะ  การงานชอบ  เว้นประพฤติชั่วทางกาย  ด้วยการฆ่าสัตว์  
           ลักทรัพย์  ประพฤติผิดในกาม  ดังนี้

        -  สัมมาอาชีวะ  การเลี้ยงชีวิตชอบ  เว้นจากการเลี้ยงชีวิตที่ผิดด้วย
           การโกงเขา  หลอกลวงเขา  สอพลอเขา  บีบบังคับขู่เข็ญเขา   ค้าคน  
           ค้ายาเสพติด  ค้ายาพิษ  สุรา  ดังนี้

        -  สัมมาวายามะ  ความเพียรชอบ  เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด  
           มิให้เกิดขึ้น  (สังวรปธาน),  เพียรละบาป  อกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว  
           (ปหานปธาน),  เพียรเจริญทำกุศลกรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น  
           (ภาวนาปธาน),  เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว  ไม่ให้เสื่อมไปและ
           เพิ่มให้ไพบูลย์ (อนุรักขนาปธาน)  ดังนี้

        -  สัมมาสติ  ความระลึกชอบด้วยข้อปฏิบัติ  มีสติเป็นประธาน  กำหนด
           พิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง  ไม่ถูกครอบงำด้วย
           ความยินดียินร้าย  ด้วยอำนาจกิเลส  มี  ๔  ประการ  คือ

                  *  กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  การตั้งสติกำนหดพิจารณากำกับรู้
                      เท่าทันกาย  แลเรื่องทางกาย

                  *  เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน  การตั้งสติกำหนดพิจารณากำกับ
                      รู้เท่าทันเวทนา                  

                  *  จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน  การตั้งสติกำหนดพิจารณารู้เท่าทันจิต
                      หรือสภาพและอาการของจิตนั้น

                  *  ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  การตั้งสติกำหนดพิจารณากำกับดูรู้
                      เท่าทันธรรมนั้น

         -  สัมมาสมาธิ  การตั้งจิตมั่นชอบ  ด้วยการเพ่งอารมณ์  จนใจแน่วแน่  
            ย่อมบรรลุถึงฌาน ๔ ดังนี้.




.....................................
    


(ยังมีต่ออีก)







          



















        

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระสมันตะมหาปัฎฐาน (ตอน ๒)


ปุเรชาตะ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  มีอุปการะแก่ธรรมบังเกิดขึ้นก่อนแล้ว
เป็นปัจจัยอันเกิดขึ้นภายหลัง  คือ

          -  จักขุปสาท  บังเกิดก่อน  ย่อมเป็นปัจจัยให้  จักขุวิญญาณเกิด

       
          -  โสตปสาท  บังเกิดก่อน  ย่อมเป็นปัจจัยให้  โสตวิญญาณเกิด
       
          -  ฆานปสาท  บังเกิดก่อน  ย่อเป็นปัจจัยให้  ฆานวิญญาณเกิด
       
          -  ชิวหาปสาท  บังเกิดก่อน  ย่อมเป็นปัจจัยให้  ชิวหาวิญญาณเกิด
       
          -  กายปสาท  บังเกิดก่อน  ย่อมเป็นปัจจัยให้  กายวิญญาณเกิด
       
          -  หทัยวัตถุ  บังเกิดก่อน  ย่อมเป็นปัจจัยให้  มโนธาตุวิญญาณเกิด
             (ปสาทะ  ความเลื่อมใส  ผ่องใส  ชื่นบาน  โปร่งโล่งบาง
             ปราศจากความอึดอัดขุ่นมัว)

ปัจฉาชาตะ  ปัจจะโย,

ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  บังเกิดภายหลัง  ย่อมเป็นอุปการะ
แก่ธรรมอันเกิดก่อน  คือ

          -  จักขุวิญญาณ  บังเกิดก่อน  ย่อมเป็นปัจจัยให้  จักขุปสาทเกิด

     
          -  โสตวิญญาณ  บังเกิดก่อน  ย่อมเป็นปัจจัยให้  โสตปสาทเกิด
       
          -  ฆานวิญญาณ  บังเกิดก่อน  ย่อมเป็นปัจจัยให้  ฆานปสาทเกิด
       
          -  ชิวหาวิญญาณ  บังเกิดก่อน  ย่อมเป็นปัจจัยให้  ชิวหาปสาทเกิด
       
          -  กายวิญญาณ  บังเกิดก่อน  ย่อมเป็นปัจจัยให้  กายปสาทเกิด
     
          -  มโนวิญญาณ  บังเกิดก่อน  ย่อมเป็นปัจจัยให้  หทัยวัตถุเกิด

อาเสวะนะ  ปัจจะโย,

ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  มีการเสพซึ่งอารมณ์ต่ ๆ กันไป  จิตอันใดเกิดก่อน
ย่อมเป็นปัจจัยให้จิตอันนั้นบังเกิดภายหลัง

          -  ปฐมฌาน  เกิดแล้ว  ด้วยสิ่งใดเป็นอารมณ์  จะเป็นรูป  เสียง

             กลิ่น  รส  สัมผัส  ทุติยฌานจะบังเกิดขึ้น
     
          -  ทุติยฌาน  เกิดขึ้นแล้ว  ตจิยฌานจะบังเกิดขึ้น
       
          -  ตติยฌาน  เกิดขึ้นแล้ว  จตุตถฌานจะบังเกิดขึ้น
     
          -  จตุตถฌาน  เกิดขึ้นแล้ว  อากาสานัญจายตนฌานจะบังเกิดขึ้น
       
          -  อากาสานัญจายตนฌาน  เกิดขึ้นแล้ววิญญานัญจายตน
             ฌานจะบังเกิดขึ้น
     
          -  วิญญาณัญจายตนฌาน  เกิดขึ้นแล้ว  อากิญจัญญายตน
             ฌานจะบังเกิดขึ้น
       
          -  อากิญจัญญายตนฌานะ เกิดขึ้นแล้ว  เนวสัญญานา
             สัญญายตนฌาน  จะบังเกิดขึ้น  ดังนี้

กัมมะ  ปัจจะโย,

ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  มีกุศลจิตเป็นปัจจัยให้บังเกิดปฏิสนธิแห่งสัตว์ทั้งปวง
ในกามาวจภพ  แลอรูปาวจรภพ  ฉันใดธรรมอันเป็นอกุศลย่อมเป็นปัจจัยให้เกิด
ปฏิสนธิในจตุรบาย  นรก  เปรต  อสุรกาย  สัตว์เดรัจฉาน  ฉันนั้น
กรรม  คือ  การกระทำที่เป็นกุศล  อกุศลแลอัพยากฤต  ย่อมจำแนกประเภท
ดังนี้ ว่า

            -  ทิฏฐธัมมะเวทนิยกรรม  กรรมอันบุคคลกระทำแล้ว  ย่อมให้ผลใน

               ชาติปัจจุบันทันใด  มิต้องรอในภพชาติต่อไป,

            -  อุปปัชชเวทนิยกรรม  กรรมอันบุคคลกระทำแล้ว  ย่อมให้ผลใน

               ชาติต่อไปเป็นลำดับจากชาติปัจจุบัน

           -  อปราปรเวทนิยกรรม  กรรมอันบุคคลกระทำแล้ว  ย่อมให้ผล

              ในภพน้อยภพใหญ่  สิบชาติ  ร้อยชาติ  พันชาติ  หมื่นชาติ
              แสนชาติบ้าง  ได้ช่องได้โอกาสเมื่อใดก็ให้ผลเมื่อนั้น
              ดุจนายพรานปล่อยสุนัขไล่เนื้อ  ทันเมื่อไรก็กัดเมื่อนั้นแล

           -  ครุกรรม  กรรมอันบุคคลกระทำแล้วในฝ่ายกุศลฌานสมาบัติ

              ย่อมสำเร็จประโยชน์  กรรมหนักในฝ่ายอกุศลอนันตริยกรรม
              ย่อมมีทุคติเป็นที่ไปฝ่ายเดียว

           -  พหุลกรรม  กรรมอันบุคคลกระทำแล้วด้วยความเคยชิน  กระทำเนือง ๆ

              ก็ดี  ค่อย  ๆ  มากขึ้นก็ดี  กุศลแลอกุศลย่อมครอบงำเสีย  กรรมฝ่ายไหน
              มีกำลังมากก็ครอบงำฝ่ายนั้น

           -  ยถาสันนกรรม  กรรมอันบุคคลกระทำแล้วด้วยกุศลแลอกุศล  เมื่อใกล้

              ดับขันธ์ก็ดี  แม้ฝ่ายไหนมีกำลังน้อย  ก็อาจให้ผลก่อนกรรมทั้งปวง  
              (เสมือนโคเฒ่า แต่อยู่ปากคอก อาจจะออกจากคอกก่อน  ทำบาปมาก 
              บุญช่วยก่อนตาย)

           -  กตัตตาปนกรรม  กรรมอันบุคคลกระทำแล้วโดยสักแต่ว่าทำ  กรรมที่

              เป็นกุศลแลอกุศลก็ตาม  มิได้จงใจให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้  ย่อมให้ผล
              ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่น  เปรียบเสมือนคนบ้ายิงลูกศร  ย่อมไม่มีความหมาย
              จะให้ถูกใคร

           -  ชนกกรรม  กรรมอันบุคคลกระทำแล้ว  ที่เป็นกุศลแลอกุศล  ย่อมเป็น

              ตัวแต่งสัตว์ให้ถือกำเนิดเกิดในภพใหม่  เมื่อสิ้นอัตภาพภพนี้  หรือกรรม
              ปฏิสนธิแห่งสัตว์ทั้งปวง  ตามติดมาสนองในชาติปัจจุบัน

           -  อุปัตถัมภกกรรม  กรรมอันบุคคลกระทำแล้ว  ที่เป็นกุศลแลอกุศล ที่เข้า

              ช่วยสนับสนุนซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม  เสมือนแม่นมเลี้ยงทารกที่เกิด
              จากผู้อื่น  ถ้ากรรมดีก็สนับสนุนให้ดีขึ้น  ถ้ากรรมชั่วซ้ำเติมย่อมเลวลงไป

           -  อุปปัฬกกรรม  กรรมอันบุคคลกระทำแล้ว  ที่เป็นกุศลแลอกุศล  ย่อมบีบ

              คั้นการให้ผลแห่งชนกกรรม  และอุปัตถัมภกกรรมที่ตรงข้าม  ให้แปรเปลี่ยน
              ไป  เป็นกรรมดีก็บีบคั้นให้อ่อนลง  ไม่รับผลเต็มที่  เป็นกรรมชั่วก็กีดกัน
              ให้ทุเลา  ดังนี้

           -  อุปฆาตกรรม  กรรมอันบุคคลกระทำแล้ว  ที่เป็นกุศลแลอกุศล  เข้ามา
              ตัดรอนกรรมที่มีกำลังแรง  เข้าตัดรอนการให้ผลของชนกกรรม  หรือ
             อุปัตถัมกกรรม  เป็นกรรมที่ฆ่าซึ่งกรรมอันอื่น  แล้วแลอุปฆาตกรรมจะให้
             ผลด้วยตนเอง



...................................




       



















๗. พระสมันตะมหาปัฎฐาน (ตอน๑)


(๒๓ วันเทพพรหมสำเร็จ ๔๐ โกฎิ)

เหตุปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายหลั่งไหลมาแต่เหตุ  เพราะเหตุเป็นปัจจัยกุศลแลอกุศลทั้งปวง
หากหาเหตุช่วยอุดหนุนค้ำจุนมิได้แล้ว  ก็มิอาจบังเกิดขึ้นในจิตสันดานแห่ง
ฝูงสัตว์โลกทั้งปวง  เมื่อใดมีเหตุปัจจัยเป็นอุปการะแล้ว  กุศลแลอกุศลจึง
บังเกิดตั้งมั่นในกาลนั้น

             -  กุศล  ย่อมนำปฏิสนธิในฉกามาพจรสวรรค์  รูปพรหมสิบหกชั้น
                อรูปพรหมสี่ชั้นแลมนุษย์ทั้งหลาย

             -  อกุศล  ย่อมนำปฏิสนธิในอบายภูมิทั้งสี่  นรก  เปรต  
                กสุรกายแลสัตว์เดรัจฉาน,

อารัมะณะ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายทั้งปวง  ที่มีความยินดีพอใจเป็นอิฏฐารมณ์  ไม่ยินดีพอใจ
เป็นอนิฏฐารมณ์  ประกอบด้วยองค์  ๖  ประการ  คือ

            -  รูปารมณ์  คือ  รูปสรรพสิ่งทั้งปวง  ปรากฏเห็นรูปด้วย
               จักขุทวาร  รูปชั่วก็ดี ประณีตก็ดี  หยาบก็ดี  ละเอียดก็ดี  
               เป็นอารมณ์แห่งจิตพอใจและไม่พอใจ

            -  สัทธารมณ์  คือ  สรรพเสียงทั้งปวงปรากฏกระทบด้วย
               โสตทวาร  ย่อมเป็นอรมณ์แห่งจิตพอใจและไม่พอใจ

            -  คันธารมณ์  คือ  สรรพกลิ่นทั้งปวง  ปรากฎกระทบด้วยฆานะทวาร
                ย่อมเป็นอารม์แห่งจิตพอใจและไม่พอใจ

            -  รสารมณ์  คือ  สรรพรสทั้งปวง  ปรากฏกระทบชิวหาทวาร
               ย่อมเป็นอารมณ์แห่งจิต  พอใจและไม่พอใจ

            -  โผฎฐัพพารมณ์  คือ  สรรพสิ่งอันบุคคลสัมผัสถูกต้อง  
               ปรากฏกระทบด้วยกาย  ย่อมเป็นอารมณ์แห่งจิตพอใจแลไม่พอใจ

            -  ธัมมารมณ์  คือ  เหตุผลสรรพทั้งปวง  อันจะพึงรู้ด้วยใจมโนทวาร
               ย่อมเป็นอารมณ์แห่งจิตพอใจและไม่พอใจ

อะธิปะติ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  ย่อมมีอธิบดีเป็นปัจจัย  ถึงพร้อมด้วยความ
สำเร็จ  ๔  ประการ  คือ

          -  ฉันทาธิปติ  ความปรารถนาเป็นใหญ่ให้สำเร็จการทั้งปวง

          -  วิริยาธิปติ  ความเพียรเป็นใหญ่ให้สำเร็จการทั้งปวง

          -  จิตตาธิปติ  จิตเป็ใหญ่ให้สำเร็จการทั้งปวง

          -  วิมังสาธิปติ  ปัญญาเป็นใหญ่ให้สำเร็จการทั้งปวง

อะนันตะระ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  ประกอบด้วยจิตและเจตสิก  เกี่ยวเนื่องเป็นสัมปฏิจฉันนะจิต
เป็นลำดับกัน  จะหาจิตและเจตสิกอื่นใดกางกั้นมิได้  จิตดวงหนึ่งดับไปจิตดวงใด
ที่ใกล้เคียงย่อมเกิดขึ้น  ธรรมที่เป็นกุศลก่อนย่อมยังประโยชน์แห่งกุศลในปัจจุบัน

สะมะนันตะระ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  ประกอบด้วยจิตแลเจตสิก  เกี่ยวเนื่องเป็นปัญจวิญญาณ
ประดุจเห็นอยู่ใกล้  เกิดแต่พอเป็นอย่าง ๆ  ประดุจดังว่าเข้าสู่นิโรธสมาบัติฉันนั้น

สะหะชาตะ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  ประกอบด้วยจิตและเจตสิก  แลรูป  บังเกิดพร้อมกันแล้ว
บรรดาจิตแลเจตสิกจะสัมปยุตต์รวมเข้าด้วยกัน

อัญญะมัญญะ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  ประกอบด้วยจิตแลเจตสิกและรูปกลาป
อันอาศัยซึ่งกันแลกัน  ย่อมประชุมรวมกัน  จึงสำเร็จการอันเป็นกุศล
ด้วยกายกรรม  วจีกรรม  แลมโนกรรม

นิสสะยะ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  บังเกิดเป็นที่อาศัยของมโนธาตุ  แลมโนวิญญาณ  
ธรรมนั้นแลได้ชื่อว่านิสสยปัจจัย

อุปะนิสสะยะ  ปัจจะโย,
ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  บังเกิดเป็นที่อาศัยด้วยอุปาทายรูป ๒๔  ประการ
(ปสาทรูป ๕   วิสัยรูป ๔   ภาวรูป ๒   หทัยรูป ๑   ชีวิตรูป ๑   อาหาร ๑  
ปริจเฉทรูป ๑   วิญญัติรูป ๒   วิการรูป  ๓   ลักษณะรูป ๔)  ในมหาภูตรูป ๔
อันประกอบด้วย  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  ธรรมนั้นแลได้ชื่อว่าอุปนิสสยปัจจัย



..........................................
 



       

               

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

๖. พระยมก


(๑๓ วัน  เทพพรหมสำเร็จ ๘ โกฎิ)

"พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว  ซึ่งพระยมกประดับ
ด้วยห้าพันหนึ่งร้อยธรรมขันธ์ พระยมกที่ทรงแสดงโดยอรรถว่าโดย
คู่บาลีก็เป็นคู่  วิสัชนาก็เป็นคู่  นี้เรียกว่า  พระยมก
ประกอบด้วยธรรม  ๑๐  ประการ  คือ

          -  มูลยมกะ  ว่าโดยอรรถเป็นคู่  บาลีเป็นคู่  ปุจฉาเป็นคู่  ดุจไม้รังทั้งคู่
              ทั้งแสดงโดยย่อ (อุเทส)  แสดงโดยแก้ไขแจกแจง (นิเทศ)

          -  ขันธยกมะ  ว่าโดยขันธ์ทั้ง ๕  (แสดงเป็นคู่)

          -  อายตนะยมกะ  ว่าโดยอายตนะ ๑๒  (เป็นคู่กัน)

          -  ธาตุยมกะ  ว่าโดยธาตุ  ๑๘

          -  สัจจยมกะ  ว่าโดยจตุราริยสัจจะทั้ง ๔

          -  สังขารยมกะ  ว่าโดยสังขาร ๓  (กายสังขาร  วจีฯ  มโนฯ)

          -  อนุสัยยมกะ  ว่าโดยอนุสัย  ๗  (กามราคานุสัย เป็นประธาน)

          -  จิตตยมกะ  ว่าโดยจิต

          -  ธัมมยมกะ  ว่าโดยเจตสิกธรรม ๕๒

          -  อินทรีย์ยมกะ  ว่่าโดยอินทรีย์ ๑๒  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถาม (ปุจฉา)
             มูลยมกะ  ว่า

เย  เกจิ  กุสะลา  ธัมมา,
ธรรมบางเหล่าเป็นกุศล

สัพเพ  เต  กุสะละมูลา,
ธรรมทั้งหลายทั้งมวล  มีกุศลเป็นมูล

เย  วา  ปะนะ  กุสะละมูลา,
ธรรมทั้งหลายหมู่ใดเป็นกุศล  ธรรมหมู่นั้นแหละเป็นมูลแห่งกุศล  คือ

        -  อโลโภ  ละความโลภ  ย่อมให้สรรพสิ่งเป็นทาน

        -  อโทโส  ละความโกรธ  ย่อมรักษาศีลบริสุทธิ์เป็นอันดี

        -  อโมโห  ละความหลง  ย่อมเจริญเมตตาปฏิบัติภาวนา

สัพเพ  เต  ธัมมา  กุสะลา,
ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น  ล้วนเป็นกุศลหมดทั้งสิ้น

เยเกจิ  กุสะลา  ธัมมา,
ธรรมบางเหล่าเป็นกุศล

สัพเพ  เต  กุสะละมูเล  นะ
ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีมูลอันเดียวกับธรรม

เอกะมูลา,
ที่มีกุศลเป็นมูล

เยวา  ปะนะ  กุสะละมูเล  นะ
อีกอย่างหนึ่งธรรมเหล่าใด  มีมูลอันเดียวกับ

เอกะมูลา,
ธรรมที่เป็นกุศล  จะเป็นกามาวจรกุศลก็ดี  รูปาวจรกุศลก็ดี  อรูปวจรกุศลก็ดี  
กามาวจรกุศล  คือ  กุศลบำเพ็ญทาน  ศีล  ภาวนา  สดับฟังพระสัทธรรม  
รูปาวจรกุศล  คือ  กุศลที่เจริญรูปฌาน  มีองค์  ๔  คือ

          -  ปฐมฌาน  ประกอบด้วยองค์  ๕  คือ
             วิตก  วิจาร  ปิติ  สุข  เอกัคคตา

          -  ทุติยฌาน  ประกอบด้วยองค์  ๓  คือ
              ปิติ  สุข  เอกัคคตา

          -  ตติยฌาน  ประกอบด้วยดงค์  ๒  คือ  
             สุข  เอกัคคตา

          -  จตุตถฌาน  ประกอบด้วย
              เอกัคคตา  แลอุเบกขา  (ฌาน-เพ่ง)

-  วิตก  มีลักษณะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์  (เหมือนก่อนตีระฆัง)

-  วิจาร  มีลักษณะพิจารณาอารมณ์นั้นเนือง ๆ  (ตีระฆังเสียงครวญ)

-  ปิติ  มีลักษณะอิ่มใจ  ชุ่มใจ  บังเกิดปิติ  ๕  ประการ  คือ

  • พระขุททกาปิติ  ขนพองสยองเกล้า
  • พระขณิกาปิติ  แสงปรากฏดุจสายฟ้าแลบ
  • พระโอกกันติกาปิติ  ดุจคลื่นกระทบฝั่งแล้วอันตรธานหายไป
  • พระอุเพงคาปิติ  ดุจกายลอยไปในนภากาศ
  • พระผรณาปิติ  เย็นกาย  น้ำตาไหล  ซึมซาบทั่วสรรพางค์กาย
-  สุุุข  มีลักษณะสืบต่อจากปิติ  บังเกิดกล้าหาญอยู่ในสันดาน
  • กายปัสสัทธิ  สุขเกิดจากความสงบกาย
  • จิตปัสสัทธิ  สุขเกิดในอารมณ์แลบังเกิด  ขณิกสมาธิ  อุปจารสมาธิ แลอัปนาสมาธิในที่สุด
-  เอกัคคตา  มีลักษณะกระทำให้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียว  
   จิตมิได้ซัดส่ายฟุ้งซ่านรำคาญใจ

-  อุเบกขา  มีลักษณะวางเแย  ไม่ยินดียินร้ายใน  รูป  รส  กลิ่น  เสียง  
   สัมผัส  แลเป็นวิปัสสนาปัญญาในการพิจารณาสังขารธรรม

สัพเพ  เต  ธัมมา  กุสะลา,
ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น  ล้วนเป็นกุศลหมดทั้งสิ้น.


........................................
           


         





















วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556

๕. กถาวัตถุ


(๑๓ วัน  เทพพรหมสำเร็จ ๗ โกฏิ)

(ปรารภปฐมปริศนา)

ปางเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น  ทรงพระอาวัชชนาการแจ้งว่า  นานไปเบื้องหน้า  
พระศาสนาล่วงไป ๒๐๘ พระพรรษา จะบังเกิดมีสาวกชื่อ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ
ประกอบด้วยปัญญาวิสารทะ  จะยกตติสังคายนาแกล้วกล้าเฉลียวฉลาดหลักแหลม  
แล้วจะยกเอาพระสูตรของสกวาที  (ผู้ถาม)  ห้าร้อยสูตร พระปรวาที  (ผู้ตอบ)  
ห้าร้อยสูตร  มาสำแดงจัดแจงมาติกาไว้  จึงพระผู้มีพระภาคเจ้ายกเป็นปุจฉา
วิสัชนาพอสังเขป  กระทำอาการดุจอาจารย์ทั้งสองพระองค์ตรัส  ถามตอบซึ่งกันและกันว่า

ปุคคะโต  อุปะลัมภะติ  สัจฉิกัตถะ  
ปะระมัตเถนาติ,  (ถาม)
ดูกรอาจารย์  สัตว์ทั้งหลายย่อมมาสำคัญในรูปกายว่า  ผู้นั้นเป็นชาย  
ผู้นี้เป็นหญิง  สำคัญเอาว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลมีจริงหรือไม่ประการใด

อามันตา,  (ตอบ)
เออ  มีจริงดังถ้อยคำท่านกล่าวมากระนั้น

โย  สัจฉิกัตโถ  ปะระมัตโถ  ตะโต
ดูก่อนท่าน  ซึ่งคำว่าชาย  หญิง  ว่าสัตว์  ว่า

โส  ปุคคะโล  อุปะลัพภะติ  สัจฉิ  กัตถะปะระมัตเถนาติ,  (ถาม)
บุคคล มีโดยปรมัตถ์นั้น  สิ่งเดียวอันใดเล่า  ที่จัดเป็นสัตว์  เป็นบุคคล  
ขันธ์ทั้ง ๕ หรือ อายตนะ  ๑๒ หรือ ธาตุทั้ง ๑๘  หรืออินทรีย์ ๒๒  หรือทั้งหมดเหล่านี้  
หรือที่ได้ชื่อว่าสัตว์  ว่าบุคคล

นะ  เหวัง  วัตัพเพ,  (ตอบ)
ท่านไม่ควรกล่าวอย่างนี้  ไม่ชอบด้วยเหตุและผล  ขันธ์แลธาตุ  แลอายตนะ  
แลอินทรีย์มิได้,  ที่เราว่าหญิงว่าชาย  ว่าสัตว์  ว่าบุคคลว่าตัวตนเราเขา  
เราเห็นในพระสูตตันตปิฎกสิว่าไว้  ว่าหญิงชื่อนั้น  ชายชื่อนั้น  กระทำบาปสิ่งนั้น  
ไปเกิดในทุคติภูมิอยู่ที่ตรงนั้น ๆ  ได้ไปแล้วเสวยรมย์ชมสมบัติอย่างนั้น  
กระทำบุญสิ่งนั้น ๆ ได้ไปแล้วเสวยรมย์ชมสมบัติอย่างนั้น ๆ พระสูตรท่านว่าไว้  
แต่ล้วนเช่นนี้  เราจึงกล่าวว่าหญิงชาย  มีจริง ๆ

อาชานาหิ  นิคคะหัง,  (ถาม)
เดิมทีสิเราถามท่านโดยปรมัตถ์  ท่านรับว่ามีจริงแล้ว  เหตุไฉนท่านมากลับเสียเล่า  
ว่าเรามิได้ว่าโดยปรมัตถ์  ท่านจงรับนิคคหะเถิด  (การข่ม  การกำหราบ  การลงโทษ)

หัญจิ  ปุคคะโล  อุปะลัพภะติ  สัจฉิกัตถะ  
ปะระมัตเถนะ  เตนะ  วะตะเร  
วัตตัพเพ, (ถามกลับ)
ดูก่อน  อาจารย์เราจะถามท่านบ้าง  ถ้าจะว่าโดยปรมัตถ์นั้น  ไม่ได้ชื่อว่าหญิง  
ว่าชาย  ว่าสัตว์  ว่าบุคคล  จริงกระนั้นหรือ

โยสัจฉิกัตโถ  ปะระมัตโถ  ตะโต  โส  ปุคคะโล  
อุปะลัพเภติ  สัจฉิกัตถะปะระมัตเถนาติ  
มิจฉา  (ตอบกลับ)
จริงตามที่ว่ากระนั้น  ถ้าจะว่าโดยปรมัตถ์  ก็เป็นขันธ์เป็นธาตุ  เป็นอายตนะ  
เป็นอินทรีย์  สมมุติสัจจะกับปรมัตถ์สัจจะอาศัยกันแลกัน  มีครุวนาดุจเสียง
อันลั่นอยู่ในป่า  จะบังเกิดมีก็อาศัยแก่เสียงอันลั่นอยู่ในป่า  จะบังเกิดมีก็อาศัยแก่เสียงบุคคลอันยืนอยู่ริมป่า  แล้วแลร้องกู่ก้องไป  ปรากฎก้องดุจผู้กู่ตอบมา  เสียงก้องคือเสียงกู่  เสียงกู่คือเสียงก้อง  สมมุติสัจจะปรมัตถ์สัจจะโดยความหมายอันแท้จริง  จึงไม่ผิดจากอุปมัย  นี้แล.



......................................









วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระปุคคะละปัญญัติ (หน้า ๘)


               -  สังฆเภท  บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ให้ผิดแยกแตกตั้งนิกาย  
                  ทำลายสังฆกรรมจากกันแต่  ฝ่ายละ  ๕  รูปขึ้นไป

นิยะโต,
คือ  บุคคลมีกรรม  ๒  จำพวก
                         
               -  บุคคลผู้ได้กระทำบาปอกุศล  อนันตริยกรรม  
                  ย่อมมีทุกข์คติ  นรกเป็นที่ไป
               -  บุคคลผู้ได้บำเพ็ญภาวนาถึงฌานสมาบัติ  ย่อมมี
                  สุขคติพรหมโลกเป็นที่ไป

อะนิยะโต,
คือ  บุคคลทั้งหลาย  มิได้กระทำอนันตริยกรรมทั้ง  ๕  แลมิ
ได้กระทำฌานภาวนา  บำเพ็ญแต่ผลทานผลศีล  ย่อมหาเที่ยงมิได้  
สุดแต่เมื่อแตกกายเพราะกายดับ  จิตเป็นกุศลย่อมไปสู่สุคติ  
จิตเป็นอกุศลย่อมไปสู่ทุคติดังนี้

ปะฏิปันนะโก,
คือ  บุคคลใด  ได้เจริญแล้วซึ่งภาวนา  ปรารถนาแล้วตั้งใจให้ถึงซึ่ง
โลกุตรธรรมเจ้า  ๙  ประการ  ในบุคคล ๔  จำพวก  คือ

              -  สุขาปฏิปทา  ขิปปาภิญญาญาณ
                  บุคคลผู้รู้ เข้าใจในธรรมเพียงยกหัวข้อขึ้นแสดง  
                  ก็แจ่มแจ้งในธรรม  สำเร็จอมฤตรสเญยยธรรม
                 อันวิเศษทันใด  (ต้องได้ฌาน)

              -  สุขาปฏิปทา  ทันธาภิญญาญาณ
                 บุคคลผู้รู้  เข้าใจในธรรม  เมื่อขยายความก็
                 แจ่มแจ้งในธรรม  สำเร็จอมฤตรสเญยยธรรม
                 อันวิเศษนั้น  (ต้องได้ฌาน) 

              -  ทุกขาปฏิปทา  ขิปปาภิญญาญาณ
                 บุคคลผู้รู้  เข้าใจธรรม  เมื่อขยายความซ้ำไป
                 มาก็แจ่มแจ้งในธรรม  สำเร็จอมฤตรสเญยยธรรม
                 อันวิเศษนั้น  (ต้องได้ฌาน)

              -  ทุกขาปฏิปทา  ทันธาภิญญาญาณ
                 บุคคลผู้ปฏิบัติได้ด้วยยาก  เพียรเป็นหนักเป็นหนา  
                 แต่ไม่ล้าความเพียร  กระทำโดยโอ้โลมปฏิโลม  
                 ร้อย  พัน  หมื่น  แสน  โกฏิครั้งก็ยินดี  จึงจะรู้อมฤต
                 รสเญยยธรรมอันวิเศษนั้น

ผะเลฏฐิโต,
คือ  บุคคลผู้ตั้งอยู่ในผล  บรรลุอริยบุคคลโสดาผล  
สกิทาผล อนาคาผล  แลอรหัตตผล,

อะระหา  อะระปัตตายะ  ปะฏิปันโน,
บุคคลผู้ถึงแล้วซึ่งความเป็นพระอรหันต์  อันพระอรหันต์ที
ได้ชื่อว่า  สมสีสี  มีลักษณะ  ๙  ประการ  คือ

             -  ชีวิตสมสีสี  สำเร็จเป็นพระอรหันต์  ตัดบาปธรรม
                จากสันดาน พลันดับขันธ์เข้านิพพานพลัน, 
                (ต้องได้ฌาน) 

             -  โรคสมสีสี  โรคาพยาธิเบียดเบียนแล้ว  
                ใคร่ครวญธรรม  สำเร็จเป็นสมุจเฉท (ดับขันธ์  นิพพาน)  
                โรคร้ายทั้งหลายก็หายพลัน,  (ต้องได้ฌาน)

             -  เวทนาสมสีสี  บำเพ็ญสมณธรรมเกิดทุกขเวทนา  
                หนาวนัก  ร้อนนัก  สรรพสัตว์เบียดเบียน  ก็พากเพียร
               สำเร็จมรรคผล, (ดับขันธ์  นิพพาน)

             -  อิริยาบถสมสีสี  บรรลุพระอรหัตตผล  ด้วยประการต่าง ๆ                                                                                           
                 *  เพียรนั่งปฏิบัติภาวนา  แลผุดลุกขึ้นก็บรรลุ
                     ธรรมทันที,  (ต้องได้ฌาน)           
                 *  เพียรนอนปฏิบัติภาวนา  แลผุดลุกนั่งก็บรรลุ
                    ธรรมทันที,  (ต้องได้ฌาน)
                 *  เพียรเดินจงกรมภาวนา  แลนั่งก็บรรลุธรรม
                    ทันที,  (ต้องได้ฌาน)
                 *  เพียรยืนภาวนา  แลนั่งก็บรรลุธรรม
                    นั้นทันที,  (ต้องได้ฌาน)  ดังนี้แล.



...............................








วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระปุคคะลุะปัญญัติ (หน้า ๗)


                    เสขะปฏิปทา  คือ  ทางดำเนินของพระอริยบุคคล  
                    ยังมิบรรลุอรหัตตผล  มีจรณะ ๑๕  เป็นไปเพื่อถึงซึ่งวิชชา  
                    อันประกอบด้วยประการต่าง ๆ  ดังนี้

                    -  สีลสัมปทา  การถึงพร้อมด้วยศีลประการต่าง ๆ

                 
                    -  อุบาสกอุบาสิกา  ย่อมรักษากาย  วาจา  เรียบร้อยปฏิบัติ
                       ในทำนองคลองธรรม
                   
                    -  สงฆ์สมณะ  ย่อมสำรวมในพระปาฏิโมกข์  มิประพฤติ
                       ย่อหย่อนรุ่มร่าม เป็นผู้เห็นภัยอาบัติเพียงเล็กน้อย  
                       (บุหรี่มีโทษควรงดสูบเด็ดขาด) เป็นผู้รู้ซึ่งถึงที่โคจรแลอโคจร
                 
                    -  อินทรีย์สังวร  การสำรวมอินทรีย์  ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  
                       มิให้ยินดียินร้ายเข้าครอบงำ
               
                    -  โภชนมัตตัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการ
                       บริโภค  พิจารณาแล้วย่อมบริโภค  แลเพ่งประโยชน์อันเกิด
                       จากอาหารนั้น  ไม่มักกินด้วยการขาดสติดังนี้
               
                   -  ชาค์ริยานุโยค  ประกอบด้วยความเพียร  มิเห็นแก่
                       การหลับนอน  มิให้ความง่วงเหงา  ซึมเซาเป็นเจ้ากรรม
                         
                               *  ยามกลางวัน  ย่อมชำระจิตจากนิวรณ์ด้วย
                                   เดินบ้าง  นั่งบ้าง  ตลอดเช้าจรดเย็น
                               *  ยามกลางคืน  มียามต้น  ย่อมชำระล้าง
                                  จิตที่คิดกุศล  อกุศล ด้วยธรรม
                               *  ยามกลาง  พักผ่อนหลับนอนด้วยอริยสีหไสยาสน์
                               *  ยามสุดท้าย  ย่อมปลุกจิตแลกายบำเพ็ญเพียรมิย่นย่อ

                   -  สัทธา  ความเชื่อในการตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า  

                      เชื่อกรรมแลผลของกรรมนั้น

                   -  หิริ  ความเป็นผู้ละอายต่อกาย  วาจา  แลใจทุจริต  

                      มีความสยะแสยงต่อบาปอกุศลทั้งปวง

                   -  โอตตัปปะ  ความเป็นผู้เกรงกลัวต่อผลของบาปอกุศลทั้งปวง


                   -  พาหุสัจจะ  ความเป็นผู้ได้ยินแลฟังมาก  คือ ฟังธรรมมี

                      ความไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง  ไพเราะในที่สุด  
                      แลยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้น  และไม่ทอดธุระในกุศลธรรมนั้น

                   -  สติ  ความระลึกได้ด้วยใจ  ถึงกิจที่ทำ  แลคำที่พูด

                      แล้วแม้นานได้

                   -  ปัญญา  คือ  อริยปัญญารู้แจ้งความเกิดดับแห่งสังขาร

                      ภายใน  มีปรีชาหยั่งรู้ธรรมดานิยม  ฉลาดรู้เหตุรู้ผลแห่ง
                      ความเจริญแลความเสื่อม  แล้วย่อมแจ้งประจักษ์ใจ

                  -  ฌาน  การเพ่งกระแสอารมณ์ด้วยใจแน่วแน่ผ่าน

                     อัปนาสมาธิ  บังเกิดปูรณะสังขยาประณีตแล้วบังเกิด
                     ปฐมฌาน  ทุติยฌาน  ตติยฌาน  แลจตุตถฌาน  ดังนี้แล

อะภะยูปะระโต,  

คือ  บุคคลผู้มีปัญญากล้าหาญ  ทำลายขันธสันดานเป็นสมุจเฉทปหาน  
ตัดบาปธรรมทั้งปวง  ล่วงถึงประโยชน์ยิ่งใหญ่  หมดเวรหมดภัย  
เข้าถึงวิมุติหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายทั้งปวง  (อรหันต์)

ภัพพาคะมะโน,

คือ  บุคคลผู้มีวาสนาบารมีน้อย  มิอาจทำให้แจ้งซึ่งมรรคแลผล  
มิอาจเป็นอริยบุคคลในสมัยปัจจุบันชาตินี้  เป็นผู้อาภัพอับวาสนา
ด้วยบุพกรรม ๑๑  ประเภท  คือ

                  -  เถยยสังวาส  บุคคลลักเพศ  คือ   บุคคลใดกระทำอันหนึ่ง

                     อันใดก็ห้ามอุปสมบท  ห้ามมรรคผลผลผลนิพพาน  
                     มิอาจจะให้สำเร็จมรรคผล  ว่าโดยพิสดารของบุคคล
                     ลักเพศมี  ๓  ประการ คือ
                 
                            *  ลิงคเถนะกะ  การเอาผ้ากาสาวพัสตร์นุ่งห่มเอง  
                                แล้วเที่ยวประกาศให้ภิกษุสามเณร นับถือยินดีรับอภิวาท  
                                แลอาสนะตามลำดับพรรษา

                           *  สังวาสเถนะกะ  บรรพชาเป็นสามเณรแล้วตั้งตัว

                               เป็นพระภิกษุ  เที่ยวประกาศไป กระทำอุโบสถแล
                               ปวารณากรรมด้วยสงฆ์ทั้งปวง

                          *   อุภัยเถนะกะ  บุคคลใด  เอาผ้ากาสวภัสตร์  

                               นุ่งห่มเอง  ตั้งตนเป็นภิกษุนับวัสสาอายุ
                               ยินดีรับอภิวาทและอาสนะ

                  -  บัณเฑาะว์  บุคคลไม่ปรากฏว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง  

                     เป็นกะเทยโดยกำเนิด  ชายผู้ถูกตอน (ขันที)  
                     ชายผูมีราคะกล้าประพฤตินอกจารีตในทางเสพกาม

                  -  ติตถิยปักกันตะ  ภิกษุอันใดไปสู่สำนักเดียรถีย์  

                     แลถือเอาในลัทธิข้างเดียรถีย์นั้น

                  -  อุภโตพยัญชนก  คือ  บุคคล  ๒  พวก

                         
                          *  อิตถีอุภโตพยัญชนก  ผู้มีเพศเดิมเป็นสตรี 
                              มีกายแลใจเป็นทั้งบุรุษแลสตรี
                          
                         *  บุรุษอุภโตพยัญชนก  ผู้มีเพศเดิมเป็นบุรุษ  
                             มีกายแลใจเป็นทั้งสตรีและบุรุษ

                  -  เดียรฉาน  เปมื่อปฏิสนธิเป็นอเหตุกะ  

                     ห้ามบรรพชาและอุปสมบท (เช่น พญานาค)

                  -  ภิกขุณีทูสกะ  บุคคลผู้ประทุษร้ายแก่ภิกษุณี


                  -  ปิตุฆาต  บุคคลผูฆ่าบิดา


                  -  มาตุปิฆาต  บุคคลผู้ฆ่ามารดา


                  -  อรหันตฆาต  บุคคลผู้ฆ่าพระอรหันต์โลหิตุปบาท  บุคคล

                     ผู้กระทำให้เลือดห้ออันบังเกิดขึ้นในพระวรกายของ
                     พระผู้มีพระภาค



..............................


(ยังมีต่ออีก)









วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระปุคคะละปัญญัตติ (หน้า ๖)


ปุถุชะโน,
คือ  บุคคลที่มีสันดานหนาไปด้วยกิเลสนานาประการ 
แลถูกรัดรึงด้วยสังโยชน์ มีประการต่าง ๆ  เป็นเจ้าเรือน  
มีกิเลสเป็นเจ้ากรรม  คือ

      -  โลโก  ความโลภเพ่งเล็งอยากได้ของเขา

    
      -  โทโส  ความประทุษร้ายทำลายเขา
    
      -  โกโธ  ความโกรธเคืองเขา  แม้ว่าเพียงเล็กน้อยก็
          ปล่อยอารมณ์โกรธเคือง
    
      -  มาโน  ความเย่อหยิ่งถือเขาถือเราถือตัวถือตน
    
      -  ทิฏฐิ  ความเห็นผิด  ยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐินั้น
   
      -  ทุพพะโจ  ความเป็นผู้ว่ายากสอนยาก
    
      -  ปาปมิตโต  ความเป็นผู้ชอบคบคนพาลเป็นมิตร  
         เมาเหล้าเมายาการพนัน
    
      -  ติดโต  ความเป็นผู้ตระหนี่ในทานบริจาคบริโภคเฉพาะตน
     
      -  ถัมโภ  ความแข็งกระด้างดื้อดึง  เมื่อเขาสั่งสอนว่า
          กล่าวโดยธรรม  โดยชอบ
    
      -  อะติมาโน  ความดูถูกล่วงเกินผู้อื่น
    
      -  มะโท  ความเมาหลงในร่างกายที่ป่วยไข้อยู่เป็นนิจ  
         ต้องกินยาและข้าวน้ำทุกเช้าค่ำ  มาสำคัญว่าไม่มีโรค
    
      -  มายา  ความเป็นคนเจ้าเล่ห์เจ้ากล
     
      -  ถีนัง  ความเป็นผู้เงียบเหงาซบเซา
    
      -  อะหิริกัง  ความเป็นผู้ไม่ละอายต่อบาปอกุศล
    
      -  อโนตตัปปัง  ความเป็นผู้ไม่เกรงกลัวต่อบาปอกุศล  
         ก็แลสังโยชน์อันเป็นกรรม  ผูกมัดรัดรึงสัตว์ไว้ในสังสารวัฏฏ์
         ให้สัตว์และมนุษย์ทั้งหลายเวียนเกิดเวียนตายอยู่สิ้นกาลนาน  
         ธรรมนี้แหละได้ชื่อว่าสังโยชน์  ๑๐  ประการ  คือ

  1. สักกายะทิฏฐิสังโยชน์  ความเห็นผิดยึดมั่นถือมั่นในสิ่งผิด ถือตัวถือตน  (ตัวกูของกู)
  2. วิจิกิจฉาสังโยชน์  ความเป็นผู้สงสัยในพระรัตนตรัย  สงสัยในผลทานผลศีลผลภาวนา  ผลแผ่เมตตา  นั่นเป็นพุทธพจน์  นั่นไม่ใช่พุทธพจน์  ทำความเห็นเข้าข้างตนเอง  ให้เกิดความเคลือบแคลงในธรรมทั้งหลาย
  3. สีลัพพัตตปรามาสสังโยชน์  ความเป็นผู้ถือไปในลัทธิเดียรถีร์นิครน  เลื่อมใสในการทรงเจ้าเข้าผี  แลยึดถือว่าบุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลแลวัตร  คือถือว่าเพียงประพฤติศีลแลวัตรให้เคร่งครัด  ก็จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้  ไม่ต้องอาศัยซึ่งสมาธิ  แลปัญญา
  4. กามราคะสังโยชน์  ความเป็นผู้มีตัณหาอันมีลักษณะให้ปรารถนากิเลสกาม  วัสดุกาม  (วัตถุกาม) ปรารถนาจะใคร่ชมเชยกามราคะ  ดำกฤษณา  ปรารถนาเครื่องนุ่งห่ม  เครื่องประดับถนิมพิมพ์ภรณ์  เครื่องใช้เครื่องสอยอันประกอบด้วยวิญญาณ  แลหาวิญญาณมิได้  ปรารถนาจะใคร่มียศศักดิ์บรรดาศักดิ์  เป็นเศรษฐีคฤหบดี  ปรารถนาใคร่เป็นอินทร์เป็นพรหมเป็นบรมจักรพรรดิ์  ปรารถนาจะใคร่เสวยสมบัติอยู่ในกามภพ  ย่อมไกลจากเมืองแก้ว  ไม่คลาดแคล้วบ่วงมาร  ย่อมไกลจากพระนิพพานเพราะกามราคะสังโยชน์
  5. ปฏิฆะสังโยชน์  ความที่จิตหงุดหงิดด้วยอำนาจโทสะ  แล้วแลเกิดขึ้นเป็นสันดานให้ขึ้งเคียดเดียดฉันท์  ขัดเนื้อแค้นใจย่อมจะต้องเวียนเกิดเวียนตายในสังสารวัฏฏ์อยู่ตราบนั้นแล
  6. รูปราคะสังโยชน์  ความปรารถนาจะใคร่บังเกิดในรูปพรหม  ด้วยเข้าใจผิดคิดว่าบังเกิดบนพรหมโลกย่อมไม่รู้แก่  รู้เจ็บ  รู้ตาย  จะมีแต่ความสบายถ่ายเดียว
  7. อรูปสังโยชน์  ความปรารถนาจะใคร่บังเกิดในอรูปพรหม  แล้วจะถึงวิมุติสุขหลุดพ้นด้วยทุกข์ทั้งปวง
  8. มานะสังโยชน์  ความเย่อหยิ่งถือเขาถือเรา  ถือตัว  ถือตน  มีอหังการมะมังการเป็นเจ้าเรือน  ถือในลาภยศ  สรรเสริญ  สุข นิกาย  หลงทาง  หลงยึดศาสนา  โมฆะ  ย่อมวิบัติจากธรรม
  9. อุทธัจจะสังโยชน์  ความเป็นผู้มีสภาวะจิตจิตฟุ้งซ่าน  ซัดส่ายในบาปอกุศล  หากมีอยู่ในสันดานตราบใด  ก็จะวนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ไม่รู้จบสิ้น
  10. อวิชชาสังโยชน์  ความไม่รู้จริงอันปิดป้องกำบังไว้ด้วยปัญญาในพระไตรลักษณ์  คือ มิได้เห็นพระอนิจจัง  พระทุกขัง  พระอนัตตา  มิได้เห็นผลแห่งการรักษาศีล  จำเริญสมาธิภาวนา  สดับฟังพระสัทธรรมเทศนา  มิได้พิจารณาเห็นคุณแลโทษประโยชน์  แลมิใช่ประโยชน์  เพราะอวิชชาเป็นใหญ่ในสังโยชน์ทั้งปวง  วนเกิดวนแก่  วนเจ็บ  วนตาย  ความโศกเศร้าร่ำไรรำพันก็จะบังเกิดมีอยู่ตราบนั้น  ด้วยไม่รู้ทุกข์  ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์  ไม่รู้ความดับทุกข์  ไม่รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์  ไม่รู้อดีตไม่รู้อนาคตและไม่รู้ปฏิจจสมุปบาทดังนี้แล
โคตระภู,
คือ  บุคคลผู้มีปัญญากล้าหาญ  ครอบงำเสียแล้วซึ่งปุถุชนคนธรรมดา  
เจริญทาน  ศีล  ภาวนา  มีปัญญารู้ตาม  แล้วน้อมนำมาพิจารณา  
เอาพระนิพพานเป็นอารมณ์  เห็นคุณแลโทษ  ได้รับประโยชน์เกือบ
ถึงความเป็นอริยบุคคลโดยแท้

ภะยูปะระโต,
คือ  บุคคลผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์  งดเว้นความชั่วเพราะกลัวบาป  
หมั่นเจริญทาน  ศีล  ภาวนา  แลบรรลุถึงซึ่่งพระเสขะบุคคล  ๗  ประเภท  
(โสดามรรค - อรหัตตมรรค) แล้วบำเพ็ญเพียรปฏิบัติเสขะปฏิปทา 
เพื่อบรรลุคุณวิเศษเป็นปริโยสาน


......................................


(ยังมีต่ออีก)












วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระปุคคะละปัญญัติ (หน้า ๕)


อะสะมะยะ  วิมุตโต,
คือ  บุคคลผู้พ้นบ่วงมารกิเลสของโลก  เป็นสมุจเฉทประหาร  
ถึงแล้วซึ่งพระอรหันต์  ๔  ประเภท
    
       -  สุขะวิปัสสะโก  ได้กระทำกิเลสธรรมทั้งปวงให้
          เหือดแห้งไปจากสันดาน
    
      -  เดวิชโช  ได้กระทำกิเลสธรรมทั้งปวงให้แจ้ง
         ด้วยความรู้พิเศษ  คือ
       
               *  ปุพเพนิวาสานิสติญาณ  ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้
      
               *  จุตูปปาตะญาณ  ญาณที่ทำให้รู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
       
               *  อาสวัคขะยะญาณ  ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นได้
       
     
      - ฉะฬะอภิญโญณาณ  ได้กระทำกิเลสธรรมทั้งปวงให้แจ้ง  
        ด้วยความรู้ยิ่ง
         
              *  อิทธิวิธิ  ญาณที่ทำให้แสดงอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
  
              *  ทิพพะโสตญาณ  ญาณที่ทำให้ได้หูทิพย์

              *  เจโตปปะริยะญาณ  ญาณที่หยั่งรู้จิตของผู้อื่นได้

      
              *  ปุพเพนิวาสานุสติญาณ  ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ 
      
              *  อาสวักขะยะญาณ  ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป


    -  ปฏิสัมภิทัปปัตโต  

       ได้กระทำกิเลสธรรมทั้งปวงให้แจ้ง   พร้อมความรู้
        แตกฉานในญาณ  คือ
      
             *  อัตถะปะฏิสัมภิทาญาณ  ญาณหยั่งรู้แลแตกฉานในอรรถธรรม
      
             *  ธัมมะปะฏิสัมภิทาญาณ  ญาณหยั่งรู้  แลแตกฉานในธรรม
      
             *  นิรุตติปะฏิสัมภิทาญาณ  ญาณหยั่งรู้และแตฉานในภาษา
      
             *  ปฏิภาณปะฏิสัมภิทาญาณ  ญาณหยั่งรู้และแตกฉานในปฏิภาณ

กุปปะธัมโม,

คือ  บุคคลผู้สำเร็จฌานโลกีย์  ที่กำเริบเสื่อมสลายแลฉิบหาย
ได้ด้วยเหตุ  คือ
   
   -  จิตมีสันดานบาปอกุศล  ประทุษร้ายทำลายล้างในพระพุทธ  
       ในพระธรรมแลในพระสงฆ์  ก็วิบัติจากฌาน,
  
   -  แลรูปบุรุษสัตรีมีความกำหนัด  ก็วิบัติจากฌาน,

   -  ฟังเสียงบุรุษสตรีมีความกำหนัด  ก็วิบัติจากฌาน,
    
   -  กำหนัดในกลิ่นรสสัมผัส  ก็วิบัติจากฌาน,

กะกุปปะธัมโม,

คือ  บุคคลผู้สำเร็จฌานโลกีย์  แลมิได้ฉิบหายเสื่อมสลายสูญหาย
ไปด้วย  รูป  รส  กลิ่น  เสียง  สัมผัส  ธัมมารมณ์  มีความแนบแน่นถาวรอันดี

ปะริหานะธัมโม,

คือ  บุคคลผู้สำเร็จฌานสมาบัติสูงขึ้นไปแล้ว  แลถอยกลับมา
ถึงฌานเบื้องต่ำ  ไม่มั่นคงในฌาน  จตุตถฌานแล้ว  
ก็หายลับกลับได้เพียงปฐมฌานเพียงนี้

อะปะริหานะธัมโม,

คือ  บุคคลผู้สำเร็จฌานสมาบัติอันมิเสื่อม  ทรงฌานสมาบัติสูงได้แล้ว  
แลมิได้เสื่อม  มิถอยลงมาฌานเบื้องต่ำ  เมื่อได้ปฐมฌานก็ถึงทุติยฌาน  
ตติยฌาน  จตุตถฌานสืบต่อไป

เจตะนาภัพโพ,

คือ  บุคคลผู้ถึงแล้วซึ่งพระโสดา  ปฏิบัติให้เจริญถึงกระทำให้เจริญ
ถึงพระสกิทาคา  พระอนาคา  (สถิตเฉพาะชั้นสุทธาวาส)  อันได้เกิดใน
รูปพรหมแล้ว  แลมิได้ถอยลงมาเกิดในชั้นเบื้องต่ำ  บังเกิดในภพสูง
ขึ้นตลอดไป  จนกว่าจะถึงซึ่งพระนิพพาน  
จะกลับบังเกิดในมนุษย์โลกหามิได้

อะนุรักขะนาภัพโพ,


คือ  บุคคลสำเร็จแล้วด้วยฌานโลกีย์  แล้วแตกกายเพราะกายดับ  

บังเกิดในพรหมโลกเบื้องต่ำ  แล้วเพียงพยายามเจริญฌานที่ได้แล้ว  
ก็ได้ฌานอันสูงสืบไปพร้อมทั้งเจริญสมถะวิปัสสนากรรมฐาน  
จุติจากพรหมโลกเบื้องต่ำแล้ว  ก็บังเกิดในพรหมโลูกชึ้ั้นสูงขึ้นไป 
จนกว่าจะเข้าสู่พระนิพพาน ในชั้นพรหมสุทธาวาสนั้นแล


  

..............................................



(ยังมีต่ออีก)